การแพร่กระจายคลื่นแบบอนาล็อกมีขีดจำกัดในการส่งสัญญาณ ซึ่งใช้ความกว้างช่องสัญญาณมาก คลื่นสัญญาณถูกรบกวนได้ง่าย สัญญาณภาพมีคุณภาพต่ำ ไม่สามารถประยุกต์ไปใช้งานร่วมกับสื่อผสมอื่นๆได้ จึงต้องคิดค้นการส่งสัญญาณแบบดิจิตอลขึ้นมาใหม่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและกระโดดข้ามข้อจำกัดเหล่านี้ ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น
ประโยชน์จากการเปลี่ยนมาใช้การแพร่คลื่นแบบดิจิตอลนี้ เกิดจากข้อจำกัดที่สำคัญ 4 ประการ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เองที่นำไปสู่เป้าหมายการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปสู่ระบบการแพร่กระจายคลื่นระบบดิจิตอล และทำให้ผู้รับบริการได้รับผลประโยชน์นี้ได้โดยตรง คือ
1. Bandwidth Efficiency ( ใช้ความกว้างช่องสัญญาณอย่างมีประสิทธิภาพ )
สามารถจัดสรรช่องสัญญาณความถี่ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จากเดิมเป็นระบบอนาล็อกใช้ช่องสัญญาณหนึ่งช่องต่อหนึ่งรายการและวางช่องสัญญาณคลื่นความถี่ติดกัน หรือสถานีส่งฯใกล้เคียงกัน ไม่สามารถใช้ช่องสัญญาณความถี่ที่อยู่ติดกันได้ แต่ในระบบดิจิตอลสามารถที่จะใช้ช่องสัญญาณความถี่ติดกัน ทำให้ใช้ช่องสัญญาณได้เต็มที่ครบทุกๆช่อง และสามารถออกอากาศในพื้นที่ใกล้เคียงกันได้โดยไม่รบกวนกัน และในหนึ่งช่องสัญญาณสามารถออกอากาศได้หลายๆรายการไปพร้อมๆกัน ( Multi Channel ) ทำให้ส่งรายการได้มากขึ้นกว่าเดิม เช่น จากระบบอนาล็อกใช้ช่องสัญญาณ CH21 ถึง CH69 ( 48 ช่อง ) ใช้ออกอากาศหนึ่งช่องต่อหนึ่งรายการโทรทัศน์ซึ่งเท่ากับ 48 รายการเท่านั้น หากเปลี่ยนเป็นระบบดิจิตอล ช่องหนึ่งสามารถส่งได้ 4 รายการ ทำให้สามารถออกอากาศรายการโทรทัศน์ได้ 4x48 จะเท่ากับ 192 รายการ ( เป็นการยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็นเท่านั้น )
2. Quality Reliability ( สัญญาณมีคุณภาพที่ดีและไม่มีการรบกวน )
ระบบอนาล็อกมีการผสมคลื่นแบบต่อเนื่อง ( Analog ) สภาวะแวดล้อมมีผลกระทบทำให้เกิดการรบกวนและลดทอนสัญญาณลง สัญญาณภาพจะถูกรบกวนและถูกซึมซาบไปมาก ทำให้มีสัญญาณแปลกปลอมสอดแทรกเข้ามารบกวนได้ง่าย การรับชมภาพจึงไม่ชัดเจน สัญญาณภาดขาดหายและเกิดสโนว์เข้ามารบกวนได้
แต่ระบบดิจิตอลมีการผสมคลื่นแบบเข้ารหัสสัญญาณที่ไม่ต่อเนื่อง ( Digital ) มีการเข้ารหัส ( Decode ) , ถอดรหัส ( Encode ) และมีระบบควบคุมเพื่อชดเชยสัญญาณได้ด้วย จึงทำให้สัญญาณไม่ถูกรบกวนได้ สัญญาณภาพมีความต่อเนื่อง ภาพที่รับได้มีความคมชัดมาก
3. Compatibility ( รูปแบบสัญญาณเป็นมาตรฐานเดียวกัน )
ระบบอนาล็อกแบบเดิมมีสัญญาณภาพหลายมาตรฐาน คือ PAL, NTSC, SECAM ทำให้การควบคุมคุณภาพ, การตัดต่อภาพและตกแต่งภาพระหว่างมาตรฐานที่แตกต่างกันทำได้ยาก และยังทำให้คุณภาพด้อยลงเมื่อผ่านกระบวนการตัดต่อหลายๆครั้ง
แต่ระบบดิจิตอลใช้มาตรฐานการเข้ารหัสภาพแบบเดียว คือ MPEG-2 ซึ่งให้คุณสมบัติของภาพที่หลากหลาย มีกระบวนการสร้างภาพที่ซับซ้อนกว่า แต่ให้คุณภาพที่ดีมากกว่า สามารถนำไปใช้งานในสื่อผสมอื่นๆที่หลากหลาย เป็นที่นิยมแพร่หลายที่สุดในขณะนี้ ทำให้การนำไปใช้งานได้ครอบคลุมทุกวงการการสื่อสารเป็นมาตรฐานเดียวกัน
4. Scalability ( ขนาดของการมองภาพที่ให้มุมมองภาพที่ดีขึ้น )
ระบบอนาล็อกมีขนาดของการมองภาพที่แคบ ( 758 x 578 - PAL อัตราส่วนภาพ 4:3 ) และภาพมีความละเอียดต่ำ การแสดงผลที่จอภาพไม่มีความชัดเจน ยิ่งจอภาพมีขนาดมากขึ้นยิ่งให้รายละเอียดต่ำกว่า ซึ่งเป็นแบบ SDTV ( Standard Definition Television ) ทั่วไป ยิ่งนำไปแสดงผลบนจอโทรทัศน์ที่มีหน้าจอขนาดใหญ่มากๆ ทำให้ภาพขาดความชัดเจน
แต่ระบบดิจิตอลสามารถเลือกการเข้ารหัสสัญญาณภาพได้หลายขนาด ( 1080 x 720 , 1920 x 1080 ที่อัตราส่วนภาพ 16:9 ) ให้ความละเอียดสูง ทำให้การแสดงผลที่จอภาพมีความคมชัดสูงแบบ HDTV ( High Definition Television ) มีมุมมองภาพที่กว้างมากขึ้น ( Width Screen ) ภาพที่ได้ดูสมจริงและมองเห็นภาพได้กว้างขวางมากขึ้น